เหรียญรุ่นแรก ปี 13 หลวงปู่เขียว อินฺทมุนี วัดหรงบน เทพเจ้าแห่งปากพนัง แม้แต่ไฟที่มีความร้อนกว่า 1,000 องค์ศา ยังไม่สามารถกล้ำกรายแม้แต่จีวรสรีระสังขารของท่านได้
 

เหรียญรุ่นแรก ปี 13 หลวงปู่เขียว อินฺทมุนี วัดหรงบน เทพเจ้าแห่งปากพนัง แม้แต่ไฟที่มีความร้อนกว่า 1,000 องค์ศา ยังไม่สามารถกล้ำกรายแม้แต่จีวรสรีระสังขารของท่านได้

สกู๊ปพิเศษในวันนี้หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม ในส่วนของกะฉ่อนพระเครื่องโดย คุณวิทย์ วัดอรุณ(อัครวิทย์ รัตนประสิทธิ์) บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม และคุณแก๊ป รามอินทรา(พงศธร สหมหมงคล) บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม ได้มีโอกาสเดินทางลงใต้ไปที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ที่จะเดินทางลงไปเพื่อกราบสรีระสังขารของ หลวงปู่เขียว อินฺทมุนี วัดหรงบน เทพเจ้าแห่งปากพนัง ด้วยความเคารพและศรัทธาเพราะท่านทั้งสองได้อธิฐานกับองค์หลวงพ่อไว้ว่า หากมีโอกาสได้ครอบครองบูชาเหรียญรุ่นแรกปี 13 ของท่านแล้ว จะเดินทางลงใต้ไปเพื่อกราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งองค์หลวงพ่อเขียวท่านก็ได้เมตตาช่วยดลบันดาลให้บิ๊กบอสของเราทั้งสองท่าน ได้มีโอกาสครอบครองบูชาเหรียญรุ่นแรกปี 13 ของท่านได้จริงๆ

จึงเป็นที่มาให้คุณวิทย์ วัดอรุณ(อัครวิทย์ รัตนประสิทธิ์) บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม และคุณแก๊ป รามอินทรา(พงศธร สหมหมงคล) บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม ร่วมกันเดินทางลงใต้ไปที่ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อกราบขอไหว้ขอพรกับสรีระสังขารของ หลวงปู่เขียว อินฺทมุนี วัดหรงบน เทพเจ้าแห่งปากพนัง ในครั้งนี้ ทั้งยังได้ร่วมทำบุญกับทางวัดหรงบน ซึ่งกำลังก่อสร้างเมรุเพื่อใช้ในการฌาปนกิจของพี่น้องชาวบ้านวัดหรงบนอีกด้วย จึงถือเป็นการเดินทางล่องใต้ที่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสเข้ากราบไหว้ขอพรกับสรีระสังขารของ หลวงปู่เขียว อินฺทมุนี วัดหรงบน อันเป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวปากพนัง และชาวไทยทั้งประเทศที่เคารพและศรัทธาในองค์หลวงพ่อท่าน อีกทั้งยังได้ร่วมทำบุญเพื่อสร้างประโยชน์โดยองค์รวมแก่พี่น้องชาววัดหรงบนอีกด้วยครับ

ประวัติหลวงปู่เขียว อินฺทมุนี

ชาติภูมิ หลวงปู่เขียวได้ถือกำเนิดในตระกูลชาวนาที่บ้านหนองยาว ต.ไสหมาก อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ในวันอาทิตย์ เดือนยี่ ปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๒๔ บิดาชื่อนายปลอด มารดาชื่อนางแป้น มีพี่น้องด้วยกันสี่คนเป็นชายสองคนหญิงสองคน หลวงปู่เขียวเป็นพี่ชายคนโต น้องชายชื่อนายพลับ น้องสาวชื่อนางเอียด และนางปาน น้องชายและน้องสาวของท่านได้เสียชีวิตไปก่อนท่าน (นามสกุลไม่มีเพราะสมัยหลวงปู่เขียวก่อนอุปสมบทยังไม่ประกาศใช้นามสกุลซึ่งนามสกุลประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖)

บรรพชา อุปสมบท คุณยายแหวดอยู่ที่บ้านสะพานชะเมาตำบลท่าเรืออำเภอเมืองจังหวัดนครศรีฯซึ่งเป็นลูกยกของหลวงปู่เขียวได้เล่าให้ฟังว่า หลวงปู่เขียวเมื่อสมัยเป็นหนุ่มแรกรุ่นท่านเป็นคนชอบศิลปะหนังตะลุงมโนรา ท่านอยากเป็นนายหนังตลุงหรือมโนราจึงได้ติดตามไปกับนายหนังตลุงและมโนราหลังจากเสร็จหน้านาแล้วหายไปทีละนานๆ แต่ว่าคุณย่าของหลวงปู่เขียวชรามากแล้ว จึงอยากให้หลานมาบวชให้ โดยคูณย่าของหลวงปู่เขียวได้ถักรัดประคตไว้ให้ท่าน คุณย่าของหลวงปู่เขียวจึงให้คนไปตามหลวงปู่เขียว เมื่อหลวงปู่เขียวทราบว่าคุณย่าตามหาให้กลับไปบวช จึงได้เดินทางกลับไปยังบ้านหนองยาว แต่ตอนนั้นหลวงปู่เขียวอายุแค่๑๘ปียังไม่ครบ๒๐ปีบริบูรณ์ จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ก่อนเป็นเวลา๒ปี เมื่ออายุได้๒๐ปีบริบูรณ์ หลวงปู่เขียวจึงได้อุปสมบทตรงกับ พ.ศ.๒๔๔๔ ตรงกับปีฉลู ซึ่งเรื่องพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่เขียวนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด ได้สอบถามตาร่วง สุขศีล ปัจจุบันอายุ๑๐๒ปีแล้ว ซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับวัดหรงบนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ได้เล่าไห้ฟังว่าหลวงปู่เขียวได้นั่งเรือไปอุปสมบทที่ปากพนังฝั่งตะวันออก ซึ่งประจวบกับที่วัดแจ้ง ต.บ้านเพิง อ.ปากพนัง จ.นครศรีฯ มีพระอุปัชฌาย์อยู่รูปหนึ่งที่ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่าพระอุปัชฌาย์เฒ่า ชื่อว่าพ่อท่านนุ่น สิริมุนี ซึ่งชาวบ้านแถบวัดแจ้งเล่ากันว่าเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระเกจิอำเภอปากพนังหลายรูปเช่น พ่อท่านเมือง วัดปากบางท่าพญา ปี๒๔๕๐ พ่อท่านขาว วัดปากแพรก พ่อท่านเพชร วัดป่าระกำเหนือ และหลวงปู่เขียว อินฺทมุนี วัดหรงบน จากคำบอกเล่าของตาร่วง สุขศีล ก็ไปตรงกับชาวบ้านแถบวัดแจ้งพอดีจึงน่าจะเชื่อถือได้ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์ของหลวงปู่เขียวคือ พระเกื้อ ซึ่งเดิมเป็นชาวตำบลไสหมากแต่ภายหลังท่านได้ลาสิกขาไป พระอนุสาวนาจารย์คือ พระเต้ง ภายหลังท่านได้แปลญัตติใหม่เป็นนิกายธรรมยุติอยู่วัดสระเกษ ต.บางตะพง อ.ปากพนัง จ.นครศรีฯได้รับสมณะศักดิ์ที่ พระครูบริหารสังฆกิจ

หลังอุปสมบทแล้วหลวงปู่เขียวได้ไปอยู่จำพรรษาที่วัดหรงบนฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอาจารย์เอียด เจ้าอาวาสวัดหรงบนขณะนั้นเพื่อศึกษาสมถะภาวนาและวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ประมาณ๕พรรษา(๕ปี)จึงได้ขออนุญาตออกไปธุดงค์ หลวงปู่เขียวได้ออกธุดงค์ไปตามแนวป่าของภาคใต้แถบจังหวัดนครศรีฯ ตรัง พัทลุง ท่านได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพ่อท่านเอียด วัดในเขียวด้วย หลวงปู่เขียวท่านได้ออกไปจากวัดหรงบนนานถึง๘ปี จนพี่น้องและญาติโยมนึกว่าท่านอาจจะมรณะภาพไปในราวป่าเสียแล้วเพราะเงียบหายไปนาน มีเรื่องเล่าว่าในขณะที่หลวงปู่เขียวธุดงค์อยู่นั้นท่านได้เข้าไปนั่งพักภายในถ้ำแห่งหนึ่ง ท่านได้เอามือค้ำยันตัวกับหินภายในถ้ำ ปรากฏว่าหินยุบลงเป็นรอยมือลึกลงไปเป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งขณะนั้นมีสามเณรติดตามหลวงปู่เขียวอยู่รูปหนึ่งได้เห็นเหตุการณ์นี้ด้วย หลวงปู่เขียวท่านจึงสั่งห้ามไม่ให้สามเณรนำเรื่องดังกล่าวไปเล่าให้ไครฟังเด็ดขาด ภายหลังสามเณรรูปนี้ได้ลาสิกขาไปแต่ก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงเหตุการณ์ภายในถ้ำ และไม่นานก็ได้เสียชีวิตลง

เป็นเจ้าอาวาสวัดหรงบน หลังจากหลวงปู่เขียวธุดงค์อยู่นานก็กลับมาวัดหรงบนขณะอายุได้ ๓๓ ปี ตรงกับ พ.ศ.๒๔๕๗ แต่ปรากฏว่าพระอาจารย์เอียด ได้มรณะภาพเสียแล้วหลายปี ทำให้วัดหรงบนไม่มีพระที่ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณรและวัดวาอาราม ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ให้หลวงปู่เขียวอยู่วัดหรงบนเป็นที่พึ่งของพระเณรและชาวบ้านต่อไป และต่อมาหลวงปู่เขียวก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดหรงบนสืบต่อมาจากพระอาจารย์เอียด ตลอดมาจวบจนหลวงปู่เขียวมรณะภาพ

“พ่อท่านเขียว” ได้มรณภาพตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๙ ณ วัดคงคาวดี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดหรงบนนัก และเป็นเส้นทางเดินผ่านมาจากบางตะพงษ์นั่นเอง การจัดการศพของท่านนั้น พระครูพิบูลย์ศีลาจารย์ เจ้าอาวาส วัดคงคาวดี ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน ได้ตั้งศพของพ่อท่าน ไว้ที่วัดคงคาวดีหนึ่งคืน พร้อมทำการสวดอภิธรรม เพื่อให้บรรดาสานุศิษย์ได้เคารพศพพ่อท่าน จากนั้นรุ่งขึ้นจึงนำศพของพ่อท่านเดินทางไปยังวัดหรงบน ปรากฏว่าเมื่อชาวบ้านรู้ข่าว ต่างพากันมาร่วมไว้อาลัยพ่อท่านมากมาย และมีการสวดอภิธรรมจนครบ ๓ คืน ระหว่างงานสวดอภิธรรมนั้นได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ โดยบรรดาลูกศิษย์ที่มีความเคารพนับถือพ่อท่าน ต่างต้องการแสดงความกตเวทิตคุณ ตามประเพณีงานศพของทางภาคใต้ ซึ่งเป็นประเพณีพื้นถิ่น คือทำการจุดดินปืนที่ใส่ “กระบอกเหล็ก” ยาว ๑ ศอก (ประเพณีนี้คนภาคใต้นิยมจุดกัน) คล้ายกับพลุเพื่อส่งสัญญาณให้คนที่อยู่ไกลออกไปได้ทราบว่ามีงานศพ ปรากฏว่าการจุดในคืนแรก ดินปืนด้านหมดทั้งสามลูก ไม่ยอมดังหรือติดเลยแม้แต่ลูกเดียว

ต่อมาคืนที่สอง ลูกศิษย์เริ่มจุดอีกช่วง ๑๘.๐๐ น. ปรากฏว่าครั้งนี้จุดทั้งหมดห้าลูก แต่ก็ด้านหมดทุกลูก ไม่ดังและไม่ติดเช่นเดียวกันกับคืนแรก ผู้คนที่เห็นเหตุการณ์ ต่างพากันประหลาดใจ ว่าเป็นเพราะเหตุใด จากนั้นพอคืนที่สาม ลูกศิษย์ผู้ที่จุดดินปืนก็ ไม่ยอมลดละ ได้ทำการจุดดินปืนที่เตรียมมาใหม่ ในเวลาเดิม ๑๘.๐๐ น. แต่ปรากฏว่าจุดไม่ติด เช่นกันกับสองคืนแรก จะมีก็เพียงควันพวยพุ่งขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น แต่ไม่ยอมระเบิดเลยแม้แต่ลูกเดียว ทำให้ผู้ที่จุดงวยงงสงสัย ว่าเป็นเพราะเหตุใดกันแน่ กระทั่งหลังการบำเพ็ญกุศลเรียบร้อย ก็จะทำการฌาปนกิจศพพ่อท่าน ตามประเพณี แต่บรรดาลูกศิษย์ต่างแตก ความคิดกันออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งอยากให้เผาศพพ่อท่าน แต่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการ ให้เก็บศพพ่อท่านไว้ไม่อยากให้เผา แต่เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้เผาศพพ่อท่าน จะได้หมดห่วงหมดกังวล จึงทำให้ ฝ่ายที่ไม่อยากให้เผา ทำการต่อรองขอว่า “ถ้าเผาศพพ่อท่านครบ ๑ ชั่วโมงแล้วไม่ไหม้ ขอให้เก็บศพไว้บูชา” ทุกฝ่ายจึงต่างก็ตกลงกันได้ด้วยดี

การฌาปนกิจศพ “พ่อท่านเขียว” ได้ทำการตั้งเมรุเผากันที่กลางลานวัด โดยใช้ไม้ฟืนที่ชาวบ้านช่วยกันนำมาโดยใช้เหล็กสามท่อน วางรองโลงศพต่างเชิงตะกอนแบบง่ายๆ เมื่อเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว จึงรอเวลาทำการเผาตามประเพณี แต่พอถึงเวลากลับไม่มีใครกล้าจุดไฟเผาพ่อท่านเลย ดังนั้น นายเหลี้ยง ชนะเสน เถ้าแก่โรงสี บ้านใสหมาก อ.เชียรใหญ่ ซึ่งเป็นศิษย์พ่อท่านอีกผู้หนึ่ง จึงเป็นผู้อาสาจุดไฟเอง โดยไม่ลืมทำพิธีขอขมาศพพ่อท่านก่อน แล้ววานท่านอาจารย์เพชร เป็นผู้จุดไฟที่ดอกไม้จันทน์ที่ตนถืออยู่ก่อน จากนั้นนายเหลี้ยงจึงทำการจุดไฟที่กองฟืนทันที ชั่วครู่ไฟจึงค่อยๆลุกลามขึ้นไหม้ทั้งดอกไม้จันทน์ ที่บรรดาญาติโยมนำไปวางไว้ทั้งด้านบนและด้านข้างโลงศพ และฟืนที่รองอยู่ จนควันโขมงและค่อยๆโหมแรงขึ้นๆจนท่วมโลงศพ และฟืนที่สุมอยู่ โดยมี “ฝ่ายที่ไม่อยากให้เผา” ต่างก็คอยจับเวลาดูนาฬิกา ว่าจะครบ ๑ ชั่วโมงเมื่อใด ไฟได้โหมแรงขึ้นๆจนกองฟืนที่สุมไว้ไหม้เกือบหมดแล้ว แต่เวลาก็ยังเหลืออีกมากทำให้ “ฝ่ายที่ไม่อยากให้เผา” ต่างออกอาการหงุดหงิดตามๆกัน แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้ จึงได้แต่เร่งเวลาให้ครบชั่วโมงโดยเร็ว แต่ไฟได้ไหม้ทั้งฟืนและโลงศพจนหมดก่อน ที่ผู้ที่จับเวลาจากนาฬิกาที่มีถึงสามคน จากทั้งสองฝ่าย ก็ได้ตะโกนบอกว่า “ครบชั่วโมงแล้ว” เสียงฆ้องเสียงระฆัง จึงตีรัวดังขึ้น ตามที่นัดหมายกันไว้ นาทีนั้นโดยไม่มีใครคาดคิด นายเหลี้ยง ผู้ที่ทำการจุดไฟรีบวิ่งเข้าไปยังกองไฟที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ แม้จะเริ่มมอดลงบ้างแล้วแต่ก็ยังมีไฟลุกอยู่เป็นส่วนมาก แต่ นายเหลี้ยง ไม่นำพาและไม่ได้หวาดหวั่นกับไฟที่ยังคุกรุ่นเหล่านั้นเลย กลับเดินแหวกควันไฟเข้าไป พร้อมเอามือช้อนลงอุ้มศพของพ่อท่านขึ้นให้ทุกคนดู ปรากฏว่าศพของพ่อท่านเป็นปกติ ไม่มีร่องรอยใดๆ ให้เห็นว่าผ่านการถูกเผามาเลย แม้แต่จีวรก็ยังเหลืองอร่ามไม่มีร่องรอยถูกเผาเช่นกัน

ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ จึงต่างส่งเสียงดังลั่น ส่วนนายเหลี้ยง ที่ใช้มือช้อนใต้ศพ จึงถูกเหล็กรองโลงศพเข้าเต็มๆ แต่แทนที่เหล็กจะร้อนเพราะถูกไฟเผา ปรากฏว่าเหล็กรองโลงศพพ่อท่านเขียวกลับเย็นเฉียบ ไม่มีความร้อนดั่งเช่นเหล็กที่ถูกไฟเผามาก่อนเลย ทำให้ทุกคนที่เห็นเหตุการณ์ต่างงงงวยกันยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเป็นเรื่องที่สุดอัศจรรย์โดยแท้ พอได้สติบรรดาญาติโยมต่างเฮโลไปรุมฉีกจีวรของพ่อท่านเก็บไว้ จนจีวรที่ห่อหุ้มร่างของพ่อท่านหมดเกลี้ยงไม่มีเหลือ เรื่องที่เล่ามานี้นับเป็นเรื่อง “อัศจรรย์” และ “เหลือเชื่อ” อย่างยิ่ง แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้ไปร่วมงานฌาปนกิจศพพ่อท่าน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทุกคนยืนยันได้ เพราะผู้ที่เล่าเหตุการณ์นี้ก็คือ “นายเหลี้ยง ชนะเสน พระครูพิบูลย์ศีลาจารย์ ท่านอาจารย์ขำ วัดหงษ์แก้ว” รวมทั้ง “นายตั้ง” ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ไปร่วมงาน ต่างยืนยันได้ทุกคน แสดงว่าบุญบารมีความศักดิ์สิทธิ์ของ “พ่อท่านเขียว” นั้นยิ่งใหญ่จริงๆ เพราะเพียงแค่ “ท่านมรณภาพแล้วร่างกายไม่เน่าเปื่อย” ก็ถือว่าอัศจรรย์อยู่แล้ว แต่นี่ “เผาไม่ไหม้” แม้แต่จีวรที่ห่อหุ้มร่างกายท่านก็ยังไม่ไหม้อีกด้วย ปัจจุบัน “ศพของพ่อท่าน” ก็แข็งเป็นหินไปแล้ว สรีระของท่านแข็งและแกร่งมาก แต่คงเค้ารูปแบบเดิมทุกประการเพียงแต่แห้งลงไปบ้างเท่านั้น ขณะนี้ทางวัดได้นำ “สรีระของท่าน” ใส่โลงแก้วไว้ เพื่อให้ผู้คนทั่ว ไปได้กราบ ไหว้บูชาและได้ชม สรีระของพ่อท่านด้วยตัวเอง เพราะหากใครได้ไปกราบ “ร่างพ่อท่าน” สักครั้ง ก็นับเป็นบุญอย่างยิ่ง

ขอขอบคุณข้อมูลจากแฟนเพจวัดหรงบน https://www.facebook.com/watrhongbon และข้อมูลจากคอลัมน์ของ คุณแฉ่ง บางกะเบา นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2550 



หน้าแรก กระฉ่อนพระเครื่อง
รวมรุ่นองค์พ่อจตุคามรามเทพ
รวมข้อมูลพระเครื่องรุ่นต่าง ๆ
รวมข้อมูลพระเกจิอาจารย์ ทั่วไทย
พุทธศิลป์ในประเทศไทย
ข่าว องค์พ่อจตุคาม
ข่าวสารพระเครื่อง
ซื้อ-ขายจตุคามรามเทพ
ซื้อ-ขายพระเครื่อง
ซื้อขายลูกปัด-หินทิเบต-ของเก่า
ถาม-ตอบเกี่ยวพระเครื่อง
กะฉ่อน กับ สื่อหนังสือพิมพ์
กะฉ่อน กับ สื่อหนังสือพระเครื่อง
Email
Password
 


สมัครสมาชิก | ลืมระหัสผ่าน

ตะกรุดสาริกาของู พระอาจารย์ป้อม
watnongmuang.com
  พระยอดนิยม


หน้าแรก | เว็บบอร์ด | พระเครื่อง | เพื่อน MSN | ฝากรูปฟรี | ทีวีออนไลน์ | เกมส์ | เทคโนโลยี | หนังใหม่ | คลิปวิดีโอ | เพศศึกษา | กะฉ่อนพาเที่ยว | กะฉ่อนพากิน | นางแบบ | มือถือ | ไดอารี | พิตตี้ | ทีมงานกะฉ่อน.คอม