หลวงพ่อสวัสดิ์ ทายาทแห่งวิชาเข็มทองคะนองฤทธิ์ วิชาเข็มทองคะนองฤทธิ์ เป็นวิขาที่เป็นภูมิปัญญาแห่งสยาม ที่อาจหาญกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า เป็นของจริง และพิสูจน์ที่ไหนเมื่อใหร่ก็ได้ ผู้ที่ได้รับการฝังเข็มทองคะนองฤทธิ์ หากหมั่นเพียรภาวนาหัวใจของพระคาถา พุทโธ อยู่เสมอเป็นนิจ ท่านผู้นั้นจะสามารถเรียกเข็มทอง ให้ไปปรากฏตามส่วนต่างๆของร่างกายได้ดังใจนึก จึงทำให้วิชาเข็มทองนี้ไม่ใช่เป็นวิชาที่เลื่อนลอย เพราะสามารถจับต้องได้ และพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง ฉะนั้นวิชาเข็มทองจึงเป็นสุดยอดวิชาแห่งสยามอย่างแท้จริง ในที่นี้จะขอกล่าวถึง พระครูวิมลประภากร
(หลวงพ่อสวัสดิ์ ปภังกโร) ทายาทแห่งวิชาเข็มทองคะนองฤทธิ์ เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานและเป็นเกียรติประวัติแก่ท่านตลอดไป
ใบสุทธิหลวงพ่อ
ประวัติ พระครูวิมลประภากร (หลวงพ่อสวัสดิ์ ปภังกโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดหุบมะกล่ำ จังหวัด ราชบุรี ทายาทเข็มทองคะนองฤทธิ์ สืบต่อจากหลวงปู่พิมพ์มาลัย วัดหุบมะกล่ำ
หลวงพ่อสวัสดิ์ นามเดิมชื่อ นายสวัสดิ์ แจ้งประจักษ์ เกิดเมื่อวันขึ้น 1ค่ำ เดือน 12 ปีฉลู ซึ่งตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 ณ บ้านหุบมะกล่ำ ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
โยมบิดาชื่อ คุณพ่อจ้อน แจ้งประจักษ์
โยมมารดาชื่อ คุณแม่หวด แจ้งประจักษ์
มีพี่น้องร่วมสายโลหิต 4 คน คือ
1. นายทำ แจ้งประจักษ์ (โยมบิดาของพระอาจารย์ป้อม วัดหนองม่วง)
2. นางสาวเหลื่อม แจ้งประจักษ์
3. นางสวิง พุกจีน
4. พระครูวิมลประภากร (หลวงพ่อสวัสดิ์ ปภังกโร อดีตเจ้าอาวาส วัดหุบมะกล่ำ)
ชีวิตในวัยเด็กของท่าน ก็เหมือนชีวิตชาวบ้านตามชนบททั่วๆไป คือช่วยครอบครัวทำนา และเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดหุบมะกล่ำจนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พออายุ 20 ปีครบเกณฑ์ ก็ไปเกณฑ์ทหารรับใช้ชาติอยู่ที่จังหวัดลพบุรีเป็นเวลา 2 ปี หลังจากปลดประจำการแล้ว หลวงพ่อท่านก็มีอาการป่วยกะเสาะกะแสะเรื่อยมา ไปรักษาตัวกับ แพทย์แผนปัจจุบันเท่าไรก็ไม่หาย โยมพี่ชาย(นายทำ โยมบิดาของพระอาจารย์ป้อม วัดหนองม่วง)จึงพามารักษากับ หลวงปู่พิมพ์มาลัย วัดหุบมะกล่ำ จนกระทั่งอาการป่วยของท่านได้หายขาดอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อหายจากอาการป่วยแล้ว หลวงพ่อสวัสดิ์ รู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่พิมพ์มาลัย เป็นอย่างมาก จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์ บรรพชาอุปสมบทอยู่กับหลวงปู่พิมพ์มาลัย เมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ 3 กรกฎาคม 2503 โดยมีพระครูโพธาภิรมย์ (หลวงพ่อ แหยม วัดบ้านเลือก) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการสอน เจ้าอาวาสวัดหนองโพ เป็นพระกรรมวาจารย์ พระอธิการมูล วัดหนองรี พระอนุสาวนาจารย์ หลังจากบวชแล้วหลวงพ่อสวัสดิ์ ก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนสอบได้ นักธรรมเอก เมื่อหลวงปู่พิมพ์มาลัย เห็นความขยันหมั่นเพียรของหลวงพ่อสวัสดิ์ว่าเป็นคนตั้งใจจริง จึงให้ความไว้วางใจ และเมตตาถ่ายทอดวิชาเข็มทองคะนองฤทธิ์ ตลอดจนเคล็ดลับในสรรพวิชาต่างๆที่ท่านได้ศึกษามา ให้แก่หลวงพ่อสวัสดิ์จนหมดสิ้น หลวงพ่อสวัสดิ์ท่านเริ่มเรียนวิชาเข็มทองกับหลวงปู่พิมพ์มาลัย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2508 (จากสมุดบันทึกตำราของหลวงพ่อสวัสดิ์ ที่ได้บันทึกไว้ซึ่งตกทอดมาอยู่ที่ พระอาจารย์ป้อม วัดหนองม่วง) หลวงพ่อสวัสดิ์ได้ปรนณิบัติรับใช้หลวงปู่พิมพ์มาลัย โดยรับหน้าที่ฝนเข็มทอง ที่ใช้ในพีธีฝังเข็มทองให้กับศิษยานุศิษย์ อีกทั้งได้ช่วยงานในวัด ดูแลพระเณร รวมทั้งงานด้านเอกสารต่างๆ จนได้รับแต่งตั้งเป็น รองเจ้าอาวาส วัดหุบมะกล่ำ
หลวงพ่อสวัสดิ์ท่านได้รับความไว้วางใจจาก หลวงปู่พิมพ์มาลัยให้ช่วยดูแล ในการจัดสร้างวัตถุมงคล ให้กับหลวงปู่พิมพ์มาลัย ดังนี้
ปีพ.ศ. 2504 สร้างเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่พิมพ์มาลัยรุ่นแรก
ปีพ.ศ. 2511 สร้างรูปหล่อหลวงปู่พิมพ์มาลัยขนาดเท่าองค์จริง และรูปหล่อหลวงปู่พิมพ์มาลัยขนาด 5 นิ้ว จำนวน 108 องค์ ,เหรียญหลวงปู่พิมพ์มาลัยรูปไข่เนื้ออัลปาก้า
ปีพ.ศ. 2516 สร้างเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่พิมพ์มาลัยรูปไข่เนื้ออัลปาก้า และพระนาคปรกใบมะขาม พิมพ์ห้าเหลี่ยมและพิมพ์สามเหลี่ยมหัวมน
ภาพฟิล์มเอ็กซ์เรย์ของคุณนิรนาม
และประมาณปีพ.ศ. 2514-15 หลวงปู่พิมพ์มาลัย ท่านเริ่มอาพาธมีอาการชาคล้ายอัมพฤกไปครึ่งซีก แต่หลวงปู่พิมพ์มาลัย ท่านก็ยังเมตตาทำการฝังเข็มทองให้กับผู้ศรัทธาในวิชาเข็มทองต่อ โดยหลวงปู่พิมพ์มาลัยเป็นผู้เสกเข็ม ให้หลวงพ่อสวัสดิ์เป็นผู้ฝังเข็ม และหลวงปู่พิมพ์มาลัยเป็นผู้ประสิทธิ์ประศาสตร์ให้อีกครั้งเรื่อยมา จนกระทั่งหลวงปู่พิมพ์ได้มรณภาพลงเมื่อ วันแรม 9 ค่ำเดือน 9 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2519 รวมริสิอายุได้ 78 ปี หลังจากหลวงปู่พิมพ์มาลัยมรณภาพลงแล้ว หลวงพ่อสวัสดิ์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ปกครองดูแลวัดหุบมะกล่ำสืบต่อมา ปีพ.ศ. 2520 หลวงพ่อสวัสดิ์ได้จัดสร้าง เหรียญรูปเหมือน หลวงปู่พิมพ์มาลัยรูปไข่เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองเหลือง เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพของหลวงปู่พิมพ์มาลัย
เข็มทองที่ปลุกเสกแล้ว
ส่วนในด้านวิชาฝังเข็มทองนั้น หลวงพ่อสวัสดิ์ได้หยุดการฝังเข็มทอง เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่พระอาจารย์ ตั้งแต่หลวงปู่พิมพ์มาลัยมรณภาพลง ต่อมาในปีพ.ศ. 2521 ท่านกำนันสว่าง ธรรมะลังกาและนายทำ แจ้งประจักษ์(โยมบิดา พระอาจารย์ป้อม วัดหนองม่วง) ซึ่งเป็นโยมพี่ชายของหลวงพ่อสวัสดิ์ ได้มาขอร้องให้หลวงพ่อสวัสดิ์ ทำการฝังเข็มทองอีกครั้ง เพื่อสืบทอดวิชาเข็มทองให้คงอยู่ต่อไป และหาปัจจัยมาบูรณะพระอุโบสถ ถาวรวัตถุและเสนาสนะต่างๆในวัด ซึ่งขณะนั้นเริ่มชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา หลวงพ่อสวัสดิ์จึงได้เริ่มทำการฝังเข็มทองให้กับศิษยานุศิษย์อีกครั้ง ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2527 ได้มีนายสนธยา(พระอาจารย์ป้อม วัดหนองม่วง) ซึ่งเป็นหลานชาย คือนายสนธยาเป็นบุตรชายของนายทำ โยมพี่ชายของหลวงพ่อสวัสดิ์ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น ได้มาขอบวชเรียน เพื่อศึกษาพระธรรมจากหลวงพ่อสวัสดิ์ ซึ่งท่านก็ได้เมตตาพระป้อมเป็นอย่างมาก พระป้อมได้ปรนณิบัติรับใช้หลวงพ่อสวัสดิ์ และตั้งใจศึกษาเล่าเรียนธรรมะเรื่อยมา พระป้อมได้เริ่มศึกษาวิชาการฝังเข็มทองจากหลวงพ่อสวัสดิ์อย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2530 หลวงพ่อสวัสดิ์ได้เห็นความขยันหมั่นเพียรของ พระป้อมจึงไว้วางใจมอบตำราที่ท่านได้จดบันทึกจากคำสั่งสอนบอกกล่าวจากหลวงปู่พิมพ์มา
ลัย ให้แก่พระป้อมไว้ศึกษาเพื่อสืบทอดวิชาเข็มทองต่อไป และพระป้อมยังได้เป็นผู้ช่วยหลวงพ่อสวัสดิ์ในการฝังเข็มทองเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 หลวงพ่อสวัสดิ์เริ่มมีอาการอาพาธ และมรณภาพลงเมื่อ วันแรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีระกา ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2536 รวมสิริอายุ 56 ปี พรรษา 34
บันทึกของพลวงพ่อสวัสดิ์
ผลงานด้านการบูรณะและก่อสร้างถาวรวัตถุของหลวงพ่อสวัสดิ์ เท่าที่ทราบคือ
- บูรณะพระอุโบสถ วัดหุบมะกล่ำ
- สร้างเมรุหลังใหม่ และศาลาสวดพระอภิธรรมศพ วัดหุบมะกล่ำ
- สร้างศาลาประชาคม วัดหุบมะกล่ำ
- บูรณะต่อเติมอาคารเรียนโรงเรียนวัดหุบมะกล่ำ จากอาคารชั้นเดียวเป็นอาคาร 2 ชั้น ด้านวัตถุมงคล ในสมัยเป็นเจ้าอาวาสวัดหุบมะกล่ำ หลวงพ่อสวัสดิ์ ท่านได้สร้างไว้คือ
- พระพุทธรูปบูชาปางประทานพร หน้าตัก 5 นิ้วเนื้อทองเหลืองจำนวน 108 องค์
- พระนาคปรกใบมะขาม เนื้อเงินจำนวน 300 องค์ เนื้อทองแดงจำนวน 12,000 องค์
- รูปหล่อลอยองค์ หลวงปู่พิมพ์มาลัย ใต้ฐานบรรจุอัฐิหลวงปู่พิมพ์มาลัยและเข็มทอง
พระอาจารย์ป้อม วัดหนองม่วง
ส่วนตำราวิชาการฝังเข็มทองคะนองฤทธิ์ ที่หลวงพ่อสวัสดิ์ได้จดบันทึกไว้ จากคำสั่งสอนบอกกล่าวจากหลวงปู่พิมพ์มาลัย อย่างสมบูรณ์นั้น ปัจจุบันนี้ได้ตกทอดอยู่กับ พระหลานชายของท่านคือ พระอาจารย์ป้อม หรือพระครูประภาสธรรมทัต เจ้าอาวาสวัดหนองม่วง ตำบลวังเย็น อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี
บทความนี้บันทึกไว้เพื่อเป็นเกียติประวัติแด่ พระอาจารย์ของข้าพเจ้า เมื่อวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีขาล ตรงกับ วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ครบรอบ วันมรณภาพของ พระครูวิมลประภากร(หลวงพ่อสวัสดิ์ ปภังกโร) ครบรอบ 18 ปี
เรียบเรียงโดย วิทย์ วัดอรุณ
(ป.ล.พิธีฝังเข็มทองจะทำการฝังได้เฉพาะ วันอังคาร,พฤหัสบดี,เสาร์,เท่านั้น ยกเว้นวันที่ตรงกับวันพระงด)
เบอร์โทรศัพท์ วัดหน่องม่วง = 032-351583 มือถือ = 086-0609249