ยินดีต้อนรับ ( เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก )


watnongmuang.com

FAN PAGE!!

 
Reply to this topicStart new topic
> "บุญ..." ตักบาตรดอกไม้วันเข้าพรรษา, ประเพณี "ตักบาตรดอกไม้" เป็นประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวพระพุท
Witwatarun
โพสต์ Jul 26 2007, 01:18 AM
โพสต์ #1


Advanced Member
***

กลุ่ม : Root Admin
โพสต์ : 1,203
เป็นสมาชิกเมื่อ : 29-June 07
หมายเลขสมาชิก : 3



"บุญ..." ตักบาตรดอกไม้วันเข้าพรรษา


ประเพณี "ตักบาตรดอกไม้" เป็นประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวพระพุทธบาท จ.สระบุรี โดยมีที่มาจากเรื่องราวในพระพุทธศาสนาว่า นายสุมนมาลาการ ถวายดอกมะลิบูชาแด่พระพุทธเจ้า และด้วยอานิสงส์ดังกล่าว ทำให้นายสุมนมาลาการมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันนำ ดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชา ดอกไม้ที่ชาวพระพุทธบาทนำมาใช้ตักบาตรในประเพณีนี้ จึงเรียกขานกันว่า "ดอกเข้าพรรษา" หรือ "ดอกหงส์เหิน" เพราะลักษณะของดอกและเกสรประดุจดังตัวหงส์ ที่กำลังเหินบิน ด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างามนั่นเอง

หงส์เหิน เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อน เกิดในป่าร้อนชื้น พบในประเทศไทย พม่า เวียดนาม ภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ หรือตามชายป่า มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กล้วยจ๊ะก่า (ตาก), กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน), กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่), ก้ามปู (พิษณุโลก), ขมิ้นผี หรือกระทือลิง (ภาคกลาง), ว่านดอกเหลือง (เลย), ดอกเข้าพรรษา(สระบุรี) เป็นต้น

เมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี ชาวพระพุทธบาทจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุในเขต อ.พระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ

ชาวสระบุรีจัดพิธีตักบาตรดอกไม้ ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร (พระอารามหลวง) และเป็นสถานที่ประดิษฐาน รอยพระพุทธบาท อันศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนให้ความเคารพบูชา พระสงฆ์จะนำดอกไม้ที่รับบิณฑบาตไปสักการะรอยพระพุทธบาท ในพระมณฑป และสักการะพระเจดีย์จุฬามณี รวมทั้งพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ดอกเข้าพรรษา (ดอกหงส์เหิน) หนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ดอกเข้าพรรษา” ในท้องที่ อ.พระพุทธบาท พบ ๒ สกุล ได้แก่ สกุลกระเจียว มีดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู และสกุลหงส์เหิน ลักษณะดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกบอบบาง มีก้านเกสรยาว มีดอกหลายสี ทั้งเหลือง เหลืองทองอมส้ม ขาว และสีชมพูอมม่วง รูปร่างคล้ายนกบินจึงนิยมเรียก “หงส์เหิน”

ชาวพระพุทธบาท ใช้ดอกเข้าพรรษาในการตักบาตร ถวายพระสงฆ์ ตามประเพณีดั้งเดิมที่เรียกว่า “ประเพณีตักบาตรดอกไม้” ในเทศกาลเข้าพรรษา เชื่อกันว่า เมื่อนำดอกไม้ชนิดนี้มาตักบาตรจะได้บุญกุศลแรง นิยมตักบาตรด้วยดอกเข้าพรรษาสีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา และสีเหลือง หมายถึงสีแห่งพระสงฆ์ สาวกแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าในหนึ่งดอกมีสีเหลืองกับสีขาวอยู่ในดอกเดียวกันจะเป็นการยิ่งดี โดยเฉพาะสีเหลืองแต้มสีขาวจะดียิ่งขึ้น

หลังจากรับบิณฑบาตแล้ว พระสงฆ์จะนำดอกไม้ไปสักการะวันทา “รอยพระพุทธบาท” จากนั้นนำออกไปวันทา พระเจดีย์จุฬามณี พร้อมกับสักการะ พระเจดีย์องค์ใหญ่ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วนำเข้าในพระอุโบสถ ประกอบพิธีสวดอธิษฐานเข้าพรรษา

ขณะที่พระภิกษุเดินลงจากพระมณฑป พุทธศาสนิกชนจะนำน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุ เชื่อว่าเป็นการชำระบาปของตนเองด้วย

นอกจากประเพณีการตักบาตรดอกไม้จะมีที่วัดพระพุทธบาทแล้ว ในกรุงเทพมหานคร ก็ยังมีที่ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

สำหรับดอกไม้ที่ใช้ในประเพณีนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นดอกเข้าพรรษาเท่านั้น จะเป็นดอกไม้อื่นๆ ที่ใช้บูชาพระก็ได้ เช่น ดอกมะลิ ดอกบัว ดอกกล้วยไม้ ดอกดาวเรือง เป็นต้น

ประชาชนที่ไม่มีเวลาเดินทางไปต่างจังหวัด สามารถร่วมตักบาตรดอกไม้ได้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพฯ สอบถามได้ที่โทร.๐-๒๒๘๑-๕๖๗๐, ๐-๒๒๘๑-๕๐๕๒, ๐-๒๒๘๒-๒๗๑๐

คำถวายของพระที่ควรรู้

พระราชสุธี (โสภณ โสภณจิโต ป.ธ.๙ ) รองเจ้าคณะภาค ๑๓ และเจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร กทม. บอกว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ มีคำกล่าวถวายของพระที่พุทธศาสนิกชนควรรู้และท่องให้ขึ้นใจ ดังนี้

คำถวายดอกไม้ธูปเทียน "อิมานิ มะยัง ภันเต ทีปะธูปะปุปผะวะรานิ ระตะนัตตะยัสเสวะ อะภิปูเชมะ อัมหากัง ระตะนัตตะยัสสะ ปูชา ทีฆะรัตตัง หิตะสุขาวะหา โหตุ อาสะวักขะยัปปัตติยา"

คำแปล ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชาธูปเทียนและดอกไม้อันประเสริฐเหล่านี้แก่พระรัตนตรัย ขอจงเป็นผลนำมาซึ่งประโยชน์สุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เพื่อให้ถึงซึ่งนิพพานที่ซึ่งสิ้นอาสวะกิเลส เทอญ

คำถวายเทียนพรรษา "อิมัง ภันเต พุทธะปูชายะ วัสสะคะตัง ปะทีปัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต อิมัง วัสสะคะตัง ปะทีปัง ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญจะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ เปตานัง สัพเพสัญจะ เทวะตานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ"

คำแปล ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งเทียนประจำพรรษาเล่มนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาแด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับซึ่งเทียนประจำพรรษาเล่มนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่มารดาบิดา ญาติสายโลหิตมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้วยังปรโลกด้วย กับเทพยดาทั้งหลายทั้งปวง ตลอดกาลนาน เทอญ

คำถวายผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) "อิมานิ มะยัง ภันเต วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ"

คำแปล ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าอาบน้ำฝน พร้อมทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าอาบน้ำฝน พร้อมทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ

สำหรับคำถวายหลอดไฟนั้น พระอาจารย์สุขเกษม เขมสุโข วัดประดู่ธรรมาธิปัตย์ กทม. บอกว่า การถวายเทียนพรรษา ในภาษาบาลีใช้คำว่า ปะทีปะยุคัง ส่วน หลอดไฟ ใช้คำว่า วิชชุปะทีเปยยานิ ดังนั้น คำถวายหลอดไฟ ก็คือ "อิมานิ มะยัง ภันเต วิชชุปะทีเปยยานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ วิชชุปะทีเปยยานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ญาตะกานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ"

แปลว่า ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย หลอดไฟ กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ หลอดไฟ กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ญาติทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนาน เทอญ




--------------------
อีกหนึ่งบริการใหม่ของเรา หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม ในหมวดพระเครื่อง

เพื่อให้เกิดความสดวกสบายสำหรับท่านสมาชิกผู้ใช้บริการของเรา หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม ทีมงานหนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม จึงได้เปิดให้บริการใหม่ใน 4 หมวดคือ

1.วัตถุมงคลคณาจารย์ รุ่นต่างๆ(คลิ๊ก)
https://sacred.kachon.com

.....
2.ข่าววงการพระเครื่อง(คลิ๊ก)
https://publish.kachon.com

.....
3.ประวัติพระเกจิอาจารย์(คลิ๊ก)
https://monkhistory.kachon.com

.....
4.ประวัติวัดและพระพุทธรูป(คลิ๊ก)
https://historyoftemples.kachon.com


เป็น 4 หมวดที่เกี่ยวกับพระเครื่องโดยตรงในเว็ปกะฉ่อนดอทคอม ท่านสมาชิกสามารถใช้บริการของเราได้ในเว็ปเดียวโดยไปต้องย้อนกลับไปยังเว็ป https://pra.kachon.com อีกต่อไป ทีมงานหนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านสมาชิกจะได้รับความสดวกสบายและพอใจในบริการใหม่ของเราในครั้งนี้ความสดวกสบายและ
พอใจในบริการใหม่ของเราในครั้งนี้
Go to the top of the page
 
+Quote Post

Reply to this topicStart new topic
มี 1 คน กำลังอ่านหัวข้อนี้ (บุลคลทั่วไป 1 คน และ 0 สมาชิกที่ไม่เปิดเผยตัว)
สมาชิก 0 คน คือ :

 




Lo-Fi Version ขณะนี้เวลา : 24th June 2024 - 06:39 AM