ประวัติความเป็นมาของ พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม(ฉบับสมบูรณ์)
 

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ประวัติความเป็นมาของ พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม(ฉบับสมบูรณ์) 
พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม ตั้งอยู่หน้าวัดทางทิศใต้ หลังโบสถ์น้อยและวิหารน้อย เดิมสูง ๘ วา(๑๖ เมตร) เป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นพร้อมกับโบสถ์และวิหารน้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงมีพระราชศรัทธาจะเสริมสร้างให้สูงใหญ่เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร แต่ทรงกระทำได้เพียงโปรดให้กะที่ขุดรากเตรียมไว้เท่านั้น การยังค้างอยู่เพราะสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดเป็นการใหญ่อีกครั้ง เริ่มแต่ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างกุฏิสงฆ์เป็นตึกใหม่ทั้งหมด เป็นต้น

และทรงมีพระราชดำริเพื่อสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปก่อพระฤกษ์พระปรางค์ เมื่อวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๓๘๕ งานเสริมสร้างพระปรางค์ได้ดำเนินจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ รวมเวลาทั้งสิ้น ๙ ปี พระปรางค์มีความสูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว(๖๖ เมตร ๗๗.๐๘๓ เมตร) หนังสือบางเล่มกล่าวว่า “เฉพาะองค์ปรางค์สูง ๘๑ เมตร” ฐานกลมวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น  ๑๗ วา(๒๓๔ เมตร)

ลักษณะของพระปรางค์   ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓   มีดังนี้ พระปรางค์ใหญ่ อยู่ภายในวงล้อมของวิหารคดและเก๋งจีน ๓ ด้าน เว้นด้านหน้า มีประตูเข้า ๙ ประตู บริเวณลานจากวิหารคดและเก๋งจีนถึงฐานพระปรางค์ชั้นล่างปูด้วยกระเบื้องหิน มีบันไดขึ้นสู่ทักษิณชั้นที่ ๑ ระหว่างปรางค์ทิศและมณฑปทิศ ด้านละ ๒ บันได รวม ๔ ด้าน เป็น ๘ บันได เหนือพื้นทักษิณชั้นนี้เป็นฐานทักษิณชั้น ๒ รอบฐานมีรูปต้นไม้ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ เหนือขึ้นไปเป็นเชิงบาตรประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีลายดอกไม้ใบไม้ มีบันไดขึ้นสู่ทักษิณชั้นที่ ๒ ตรงหน้ามณฑปทิศ มณฑปละ

(๑) เมื่อปฏิสังขรณ์ใหญ่สมัยรัชกาลที่ ๕ พระยาราชสงคราม(กร  หงสกุล) แม่กองปฏิสังขรณ์ ได้ทิ้งดิ่งวัดความสูงของพระปรางค์ได้ดังนี้:- จากสุ่มปรางค์ถึงพื้นล่าง สูง ๑ เส้น ๑๐ วา ๒ ศอก ลำภุขันสูง ๙ ศอก ๓ นิ้ว มงกุฎสูง ๒ ศอก ๑๐ นิ้ว กว้าง ๑ ศอก ส่วนฐานปรางค์กลม ๕  เส้น  ๑๗  วา (เอกสารวัดอรุณฯ ๑๘ แผนกเอกสารสำคัญ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

(๒) บันได คือทางซ้ายและทางขวาของแต่ละมณฑป รวม ๘ บันได เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ ๒ นี้เป็นฐานของทักษิณชั้นที่ ๓ มีช่องรูปกินนรและกินรีสลับกันโดยรอบ เชิงบาตรมีรูปมารแบก และมีบันไดตรงจากหน้ามณฑปทิศแต่ละมณฑปขึ้นสู่ทักษิณชั้นที่ ๓ อีกด้านละบันได รวม ๔ บันได ที่เชิงบันไดมีเสาหงส์หินบันไดละ ๒ ต้น เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ ๓ เป็นฐานทักษิณชั้นที่ ๔ มีช่องรูปกินนรและกินรีสลับกันโดยรอบ เว้นแต่ตรงย่อมุม ๔ ด้านเป็นรูปแจกันปักดอกไม้ เพราะเป็นช่องแคบๆ ที่เชิงบาตรมีรูปกระบี่แบก

มีบันไดขึ้นไปยังทักษิณชั้นที่ ๔ อีก ๔ บันไดตรงกับบันไดชั้นที่ ๓ ดังกล่าวแล้ว และมีเสาหงส์หินอยู่เชิงบันไดอีกด้านละ ๒ ต้นเช่นเดียวกัน เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ ๔ เป็นช่องรูปกินนรและกินรีสลับกันโดยรอบ และตรงย่อมุมเป็นรูปแจกันปักดอกไม้ เชิงบาตรมีรูปพรหมแบก เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหา ๔ ด้าน มีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ในคูหาทั้ง ๔ คูหา เหนือซุ้มคูหารูปพระอินทร์เป็นยอดปรางค์ขนาดย่อม และมีรูปพระนารายณ์ทรงครุฑแบกพระปรางค์ใหญ่อยู่โดยรอบ ตอนบนสุดพระปรางค์ขึ้นไปเป็นนภศูลและมงกุฎปิดทอง

องค์พระปรางค์ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ อย่างงดงามประณีตบรรจง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ กระเบื้องเคลือบสีที่ใช้ประดับเหล่านี้ บางแผ่นเป็นรูปลายที่ทำสำเร็จมาแล้ว บางชิ้นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนำมาประกอบกันเข้าเป็นลาย และบางลายใช้กระเบื้องเคลือบธรรมดา บางลายเป็นกระเบื้องเคลือบสลับเปลือกหอยและบางลายใช้จานชามของโบราณที่มีลวดลายงาม ๆ เป็นของเก่าหายาก เช่น ชามเบญจรงค์ เล็กบ้างใหญ่บ้าง มาประดับสอดสลับไว้อย่างเรียบร้อย น่าดูน่าชมยิ่ง

ปรางค์ทิศ เป็นปรางค์องค์เล็กๆ อยู่บนมุมทักษิณชั้นล่างของพระปรางค์ใหญ่ ตรงทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์ ปรางค์ทิศเหล่านี้รูปทรงเหมือนกัน คือมีช่องรูปกินนรกินรีและเชิงบาตร เหนือช่องมีรูปมารกับกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑจับนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ปรางค์ทิศก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ และเหนือยอดปรางค์เป็นนภศูลปิดทอง

มณฑปทิศ มีอยู่ ๔ ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนฐานทักษิณชั้นที่ ๒ ในระยะระหว่างปรางค์ทิศ ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ แต่จะเป็นปางใดบ้างนั้น ไม่พบหลักฐาน เมื่อปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๕ ตามรายงานของพระยาราชสงครามชี้แจงว่า มีแต่ฐานพระพุทธรูป องค์พระพุทธรูปไม่มี ตอนฐานของมณฑป แต่ละมณฑปมีช่องรูปกินรีและกินนร และเหนือช่องมีรูปกุมภัณฑ์แบก ๒ มณฑป คือ ทิศเหนือกับทิศใต้ รูปคนธรรพ์แบก ๒ มณฑป คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มณฑปก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายต่างๆ เช่นเดียวกับองค์พระปรางค์ใหญ่ และปรางค์ทิศ

ลักษณะของพระปรางค์ที่ปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๕ หรือตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นดังนี้คือ:-
พระปรางค์ใหญ่ อยู่ภายในรั้วล้อมทั้ง ๔ ด้าน ด้านตะวันออก เหนือและตะวันตก ตอนล่างเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนเตี้ยๆ ทาด้วยน้ำปูนสีขาว ตอนบนเป็นรั้วลูกกรงเหล็กทาสีแดง มีรูปครุฑจับนาคติดอยู่ตอนบนทุกช่อง แต่ละช่องกั้นด้วยเสาก่ออิฐถือปูนเหมือนกำแพงตอนล่าง ด้านตะวันตกหลังพระปรางค์นั้น  มีเก๋งจีนแบบของเก่าเหลืออยู่อีก ๑ เก๋ง

หน้าบันและใต้เชิงชายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีและภาพสีทาและเขียนเป็นรูปดอกไม้ ต้นไม้ และรูปสัตว์ต่างๆ แบบจีน ผนังของเก๋งด้านใน ทาด้วยน้ำปูนสีขาว แต่เดิมนั้นเป็นภาพสีเกี่ยวกับนรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ โปรดให้ลบออกเสีย เพราะทรงพิจารณาเห็นว่าไม่งาม ส่วนรั้วด้านใต้ที่ติดกับกำแพงพระราชวังเดิมนั้น เป็นรั้วก่อด้วยอิฐถือปูนทึบตลอดทั้งด้าน

ลานพระปรางค์ตั้งแต่รั้วถึงฐาน ปูด้วยกระเบื้องหิน มีท่อระบายน้ำจากพื้นลานลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ละมุมด้านในของรั้วมีแท่นก่อไว้มีลายเป็นขาโต๊ะตั้งติดกัน เข้าใจว่าจะเป็นที่สำหรับตั้งเครื่องบูชา หรือวางของ รอบๆ ฐานพระปรางค์ มีตุ๊กตาหินแบบจีนเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น วัว  ควาย เป็นต้น กับรูปทหารจีน ตั้งไว้เป็นระยะๆ บริเวณลานที่ตรงกับมณฑปมีราวเทียน และที่สำหรับปักธูปบูชาทั้ง ๔ มณฑป 

องค์พระปรางค์ใหญ่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก โปรดให้เปลี่ยนเพียงรูปกินนรกินรี และแจกันปักดอกไม้ตามช่องต่างๆ เป็นซีเมนต์ครึ่งซีกติดกับผนังคูหาด้านใน แทนของเก่าซึ่งสลักด้วยหินเป็นตัวๆ ตั้งไว้ เพราะถ้าจะทำใหม่ให้เหมือนของเก่าจะต้องใช้เงินมาก ด้วยของเก่าเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ได้โปรดให้รื้อประตูเข้าพระปรางค์ออกหมดทั้ง ๙ ประตู แล้วสร้างขึ้นใหม่เพียง ๕ ประตู เป็นประตูซุ้มแบบวัดราชประดิษฐ์ ในซุ้มเหนือบานประตูทำเป็นรูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ทั้ง ๕ รัชกาล

ติดอยู่ตรงด้านนอกด้านใน คือที่รั้วด้านตะวันออกหน้าพระปรางค์มี ๓ ประตู ประตูที่อยู่เหนือโบสถ์น้อยเป็นรูปครุฑจับนาค ประจำรัชกาลที่ ๒ ประตูกลางระหว่างโบสถ์และวิหารน้อยเป็นรูปพระเกี้ยว ประจำรัชกาลที่ ๕ และประตูข้างใต้วิหารเป็นรูปพระมงกุฎ ประจำรัชกาลที่ ๔ ส่วนทางด้านตะวันตกหลังพระปรางค์มี ๒ ประตู ประตูเหนือเก๋งจีนเป็นรูปอุณาโลมอยู่ในกลีบบัว ประจำรัชกาลที่ ๑ ประตูใต้เก๋งจีนเป็นรูปอุณาโลมอยู่ในปราสาท ประจำรัชกาลที่ ๓ 

ปรางค์ทิศ ไม่ได้เปลี่ยนแปลง มณฑปทิศ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เป็นแต่โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่เหลืออยู่ในวิหารคดรอบพระปรางค์ ของเก่าที่รื้อไปนั้น นำขึ้นไปประดิษฐานไว้ในมณฑปทิศ คือ มณฑปทิศเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ ทำเป็นรูปพระนางสิริมหามายา พุทธมารดาประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้รัง เบื้องพระพักตร์มีรูปพระมหาสัตว์หรือพระพุทธเจ้าแรกประสูติ ประทับยืนอยู่เหนือดอกบัวยกพระพาหาข้างขวาขึ้นเหนือพระเศียร ชูนิ้วพระหัตถ์ขึ้น ๑ นิ้ว ประกาศว่าจะทรงเป็นมหาบุรุษผู้เลิศในโลก มีรูปเทวดา ๒ องค์ ประคองพระแท่นที่ประทับยืน

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในมณฑปนี้ เป็นของทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เพราะเดิมไม่มี ทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางตรัสรู้ มีพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่กลาง และพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่สองข้างประทับอยู่ใต้ร่มโพธิ์และร่มไทร ทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเทศนาพระธรรมจักร มีพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์นั่งพนมมือฟังอยู่เฉพาะพระพักตร์ สำหรับพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี้ เป็นของทำขึ้นใหม่ เพราะของเก่าแตกทำลายหมด และทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่เหนือแท่นพระบรรทมใต้ต้นรังทั้งคู่ และมีพระภิกษุสงฆ์พุทธสาวกอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์

อนึ่ง ใน พ.ศ.๒๔๖๓ ประเทศไทยเริ่มใช้เวลาอัตราโดยถือเอาเวลาของเมริเดียน ๑๐๕0  ตะวันออกของกรีนนิช ซึ่งผ่านจังหวัดอุบลราชธานีเป็นมาตรฐานของเวลาอัตรา ฉะนั้น เวลาในประเทศไทยจึงเร็วกว่าเวลาสมมุติกรีนนิช ๗ ชั่วโมง แต่ถ้าถือเอาเมริเดียนที่ผ่านพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ คือ เมริเดียน ๑๐๐0 ๒๙’๓๓” แล้ว จะเร็วกว่าเวลาสมมุติเพียง ๖ ชั่วโมง ๔๑ นาที ๕๘ วินาทีเท่านั้น

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก สำนักงานกลางวัดอรุณราชวราราม โดย พระครูปลัดดิลกวัฒน์(ชุมพร นิติสาโร) เลขานุการวัดอรุณราชวราราม - ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม และ พระครูวินัยธร จีรเดช จิรเตโช ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม แว่น วัดอรุณ รายงาน

ประวัติวัดอรุณราชวราราม

วัดอรุณราชวรารามเป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง

เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรม สมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว เมื่อสมเด็จพระเจ้ตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา และเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2322

ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามใน พ.ศ. 2327 ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมามีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น

แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดตอบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

ด้านหน้ารูปถ่ายอัดกระจกหลวงปู่นาค วัดอรุณ ปี 2475

รวมวัตถุมงคลที่ พระเกจิอาจารย์ของวัดอรุณ ได้สร้างไว้ในอดีต

1.รูปถ่ายอัดกระจกหลวงปู่นาค วัดอรุณ
หลวงปู่นาคท่านได้เคยแจกรูปถ่ายติดกระจกข้าวหลามตัดในปี พ.ศ.2475 เนื่องในโอกาสทำบุญครบ 5 รอบอายุ 60 ปี ซึ่งจริงๆแล้วท่านหลวงปู่นาค ท่านไม่มีเจตนาจะสร้างรูปกระจกข้าวหลามตัดนี้เลย แต่ด้วยเพราะบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านในสมัยนั้นเห็นว่าปีนี้เป็นงานฉลองวันเกิดครบ 5 รอบอายุ 60 ปีของท่าน และก็อยากจะได้รูปถ่ายของท่านไว้บูชาเพื่อเป็นศิริมงคลกัน จึงได้ไปขอให้ท่านหลวงปู่นาคสร้างรูปถ่ายติดกระจกข้าวหลามตัด

ด้านหลังรูปถ่ายอัดกระจกหลวงปู่นาค วัดอรุณ ปี 2475

ท่านหลวงปู่นาคจึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นท่านไม่ขอยุ่งเกี่ยว ถ้าอยากได้กันจริงๆก็ให้ไปหาท่านพระอาจารย์พา วัดระฆังเพื่อขอคำแนะนำเพราะท่านพระอาจารย์พา วัดระฆังท่านได้ทำรูปถ่ายติดกระจกข้าวหลามตัดแบบนี้ขึ้นมาก่อนเมื่อปี 2471 เมื่อทำรูปถ่ายติดกระจกข้าวหลามตัดเสร็จแล้ว ลูกศิษย์จึงนำมาถวายท่านหลวงปู่นาคให้ท่านปลุกเสก และแจกในงานฉลองวันเกิดครบ 5 รอบอายุ 60 ปี

ด้านหน้าเหรียญพระปรางค์เนื้อเงิน วัดอรุณ ปี 2489 ที่หาชมได้ยากมาก

2.เหรียญพระปรางค์ วัดอรุณ ปี 2489
เป็นเหรียญที่สร้างครั้งแรกในคราวที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(วน) ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ จากการที่ท่านเป็นคนเพชรบุรีอีกทั้งยังเป็นศิษย์น้องของท่านหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ เหรียญรุ่นนี้จึงได้นิมนต์ท่านพระครูญาณวิลาศ (แดง)วัดเขาบันไดอิฐ มาอธิษฐานจิตและปลุกเสกให้

ด้านหลังเหรียญพระปรางค์เนื้อเงิน วัดอรุณ ปี 2489 ที่หาชมได้ยากมาก

และยังมีเกจิผู้เรืองวิทยาคมในยุคนั้นอีกมากมายถึง 108 รูปเพราะในปีพ.ศ. 2489 เป็นปีที่มีการสมโภชฉลองการบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณด้วย โดยเฉพาะสายวัดสุทัศก็มากันครบทีม เช่นท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) ผู้สร้างตำนานพระกริ่งต่อจากสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ เป็นต้นจึงนับได้ว่าเป็นเหรียญที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่งทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และบารมีของหลวงพ่อแดง แห่งวัดเขาบันไดอิฐและสมเด็จพระพุฒาจารย์(วน) แห่งวัดอรุณ

ด้านหน้าเหรียญรุ่นแรก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอรุณ ปี 2506

3.เหรียญรุ่นแรก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอรุณ ปี 2506
พิธีปลุกเสกเหรียญรุ่นนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ท่านที่ศัทธาในองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ควรพลาด พิธีปลุกเสกในครั้งนั้นทางวัดอรุณ โดยท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์(วน) เจ้าอาวาสวัดอรุณฯในสมัยนั้น

ด้านหลังเหรียญรุ่นแรก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอรุณ ปี 2506

ท่านได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ผู้เข็มขลังในพุทธาคมในยุคนั้นถึง 108 รูป มาทำพิธีพุทธาภิเษกเหรียญรุ่นนี้ไว้อย่างเต็มเปี่ยม จึงทำให้เหรียญรุ่นแรก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอรุณ ปี 2506 รุ่นนี้ น่าใช้ น่าเลี่ยมขึ้นคอเ ป็นอย่างยิ่ง

ด้านหน้าพระชัยวัฒน์พระครูลืม วัดอรุณ

4.พระชัยวัฒน์พระครูลืม วัดอรุณ
วัตถุมงคลของท่านพระครูลืมนั้น พระครูภาวนาวิจารณ์ (ลืม)ท่านได้สร้าง พระชัยวัฒน์พระครูลืม วัดอรุณ ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าเบญจภาคีพระชัยวัฒน์ โดยท่านพระครูลืมท่านเป็นศิษย์ในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ฤทธิ์ ธมฺมสิริ) วัดอรุณราชวรารามและสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ เป็นศิษย์ร่วมสำนักกับท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) ท่านจึงได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์เป็นอย่างมาก เมื่อครั้งที่ท่านได้คิดที่จะสร้างพระชัยวัฒน์นั้น
สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์

ด้านหลังพระชัยวัฒน์พระครูลืม วัดอรุณ

จึงได้มอบชนวนพระกริ่งของท่านแก่ท่านพระครูลืมเพื่อเป็นมวลสารในการหล่อพระชัยวัฒน์พระครูลืม วัดอรุณ และท่านสมเด็จสังฆราชแพและท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) ยังได้ร่วมปลุกเสก พระชัยวัฒน์พระครูลืม วัดอรุณให้ด้วยทำเนียบเบญจภาคีพระชัยวัฒน์นั้นประกอบไปด้วย 1.พระชัยวัฒน์ท่านเจ้ามา วัดจักรวรรดิ 2.พระชัยวฒน์หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว 3.พระชัยวัฒน์สมเด็จสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ 4.พระชัยวัฒน์หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง 5.พระชัยวัฒน์พระครูลืม วัดอรุณ( แจ้ง)

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดอรุณ ดอกนี้แบบมีเชือกควั่นและลงรักปิดทองเป็นยุคต้นๆของท่านที่แจก

5.ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดอรุณ ราชาแห่งตะกรุดหนังหน้าผากเสือ

ท่านหลวงปู่นาคท่านยังได้สร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ เพื่อไว้แจกแก่ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดจะไม่แจกพร่ำเพรื่อ เพราะตามตำราการทำตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาคที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวายนั้น ท่านจะต้องทำพิธีปลุกเสกตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ ของท่านได้เฉพาะปีที่มีเสาร์ห้าเท่านั้น ซึ่งในสมัยนั้นหากลูกศิษย์ลูกหาคนใดอยากได้ ตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณของท่านหลวงปู่นาคเอาไว้บูชา ส่วนใหญ่จะพากันมาสั่งหนังเสือที่ร้านเจ้ากรมเป๋อหน้าวัดสามปลื้มเหตุเพราะในสมัยนั้นใครมีของป่าและยาสมุนไพรป่าก็จะนิยมนำมาขายหรือฝากขายที่ร้านนี้

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดอรุณ ดอกนี้แบบมีเชือกควั่นและลงรักปิดทองเป็นยุคต้นๆของท่านที่แจก

เมื่อได้มาแล้วจะนำส่วนหน้าผากของเสือมาตัดแบ่งตามขนาดใหญ่เล็กแล้วแต่ขนาดของหน้าผากเสือที่ได้มา ถ้าเล็กก็ประมาณ 1 นิ้วหากใหญ่ก็ไม่เกิน 2 นิ้วต่อ 1 ชิ้น หนังหน้าผากเสือซื่งเสือหนึ่งตัวจะสามารถตัดแบ่งหนังหน้าผากได้ไม่กี่ชิ้น จากนั้นจะนำมาแช่น้ำเพื่อขูดขนออกให้เกลี้ยงแล้วนำมาฝนให้หนังหน้าผากเสือมีความหนาที่บางลง เพื่อง่ายต่อการจารและม้วนเป็นตะกรุด เมื่อได้หนังหน้าผากเสือตามขนาดที่ต้องการแล้วก็จะนำมาถวายให้ท่านหลวงปู่นาคทำพิธีจารอักขระเลขยันต์ตามสูตร เมื่อจารอักขระเลขยันต์เสร็จแล้วท่านจะทำการม้วนตะกรุดโดยใช้ด้ายสายสินเล็กๆมาควั่นเพื่อมัดให้หนังเสือแห้งอยู่ตัวไม่คลายออก

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดอรุณ ดอกนี้ชนะการประกวดมาแล้ว 2 งาน

ซึ่งในยุดหลังๆปลายชีวิตท่านหลวงปู่นาค ท่านจะให้พระเณรหรือลูกศิษย์วัดในกุฎิของท่านทำการควั่นเชือกตะกรุดแทนท่านเมื่อเสร็จในขั้นตอนนี้แล้ว ก็จะทำการลงรักเพื่อรักษาให้หนังเสือมีการรัดตัวและมีอายุการใช้งานคงทนยืนนาน ซึ่งหนังเสือที่นำมาลงรักนั้นจะมีทั้งยังมีเชือกที่ควั่นไว้และไม่มีเชือกที่ควั่นไว้ก็มี และมีทั้งการลงรักแล้วปิดทองและไม่ปิดทองก็มี เมื่อเสร็จสมบูณ์เป็นตะกรุดหนังหน้าผากเสือแล้วท่านหลวงปู่นาค ท่านจะเริ่มปลุกเสกของท่านไปเรื่อยๆเพื่อรอให้ถึงฤกษ์เสาร์ห้าในปีนั้นๆจึงจะทำพิธีปลุกเสกใหญ่ในวันเสาร์ห้าอีกครั้ง เมื่อเสร็จจากพิธีปลุกเสกใหญ่ในวันเสาร์ห้าแล้วท่านหลวงปู่นาค ท่านจึงจะทำการแจกจ่ายกับศิษย์ที่ศัทธา หรือศิษย์ที่ได้นำหนังหน้าผากเสือมาไว้ให้ท่านทำพิธีให้ จะเห็นได้ว่าด้วยขั้นตอนวิธีการทำที่สลับซับซ้อนของการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ จึงทำให้ได้ตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ ที่มีจำนวนค้อนข้างน้อยและมีจำนวนการสร้างที่มีจำนวนจำกัดเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้เป็นที่ใฝ่หาของบรรดาท่านที่นิยมศรัทธาในองค์หลวงปู่นาค วัดอรุณเป็นอย่างยิ่ง จนในยุคปัจจุบันนี้จะหาตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ ของท่านจริงๆชมกันได้ยากยิ่ง ตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ นั้นเข้มขลังมาก มีประสบการณ์มากมาย ถึงขนาดใครใส่ตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านเดินผ่านคอกวัวควายในสมัยนั้น วัวควายยังตื่นกลัววิ่งหนีแตกตื่นกันอย่างลนลาน

ใบประกาศชนะราวัลที่ 1 ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดอรุณ

ป.ล.ขั้นตอนการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนสงสัยมาหลายสิบปี เพราะเป็นเพียงการได้ฟังมาจากคุณลุงกวี อรรถโกวิทซึ่งท่านก็ฟังมาจากคุณปู่กร อรรถโกวิทซึ่งเป็นพ่อของท่านอีกที จึงยังมีข้อสงสัยในใจอยู่อีกหลายอย่าง แต่เมื่อได้มารู้จักกับคุณอนุสิษฐ์ บุญมาก ซึ่งคุณตาทั้งสามท่านของคุณอนุสิษฐ์ บุญมาก ท่านเคยมารับใช้ท่านหลวงปู่นาคอยู่ที่วัดอรุณในสมัยที่ท่านหลวงปู่นาคท่านยังมีชีวิตอยู่ คือ 1.คุณตากุ 2.คุณตาม้วน 3.คุณตามิ่ง ก่อนที่พวกท่านและชาวปทุมธานีอีกหลายท่าน จะเดินทางกลับไปอยู่ที่วัดเทียนถวายเมื่อท่านหลวงปู่นาคท่านได้มรณะภาพลง ผู้เขียนจึงได้ไหว้วานขอให้คุณอนุสิษฐ์ บุญมากไปช่วยสอบถามถึงขั้นตอนการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ จากคุณตามิ่งให้อีกครั้ง เพื่อยืนยันถึงสิ่งที่ได้รับรู้มาจากคุณลุงกวี อรรถโกวิท ว่าจะตรงกันหรือไม่(ซึ่งขณะที่ทำการบันทึกนี้ คุณตามิ่งท่านยังมีชีวิตอยู่) ก็ได้ข้อมูลที่ตรงกันคือ "เมื่อม้วนตะกรุดหนังหน้าผากเสือเสร็จแล้ว ท่านหลวงปู่นาคท่านจะเอาด้ายสายสินเส้นเล็กๆสีขาวมาควั้นเพื่อยึดตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านไว้เพื่อไม่ให้คลายตัวออก" จึงได้ลงบันทึกการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ ที่ถูกต้องนี้ไว้ เพื่อมิให้ขั้นตอนการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของหลวงปู่นาค วัดอรุณที่ถูกต้องได้สูญหายไป

ใบประกาศชนะราวัลที่ 1 ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดอรุณ

6.พระผงน้ำมันวัดอัมพวา คุณค่าระดับ'พระสมเด็จ'
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) วัดอรุณได้สร้างพระผงน้ำมันนี้ขณะครองวัดอรุณฯ แล้วนำไปบรรจุไว้ที่วัดอัมพวา เมื่อครั้งที่ท่านได้ไปบูรณะวัดนี้ราวปี ๒๔๕๐ เนื่องจากท่านเกิดและเติบโตบริเวณวัดอัมพวา ซึ่งในขณะนั้นมีสภาพใกล้เป็นวัดร้างเต็มที นอกจากนี้ท่านเจ้าประคุณยังได้นำชุดนี้ไปบรรจุกรุอีกหลายวัด ย่านบ้านช่างหล่อ พรานนก ซึ่งเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับท่านเจ้าประคุณทั้งสิ้น เช่น วัดนาคกลาง วัดดงมูลเหล็ก รวมทั้งที่กรุเจดีย์เล็กวัดอรุณฯ ซึ่งถูกขโมยเจาะเจดีย์เพื่อล้วงเอาพระมาแล้วครั้งหนึ่งในคืนฝนตก

เมื่อปี ๒๕๐๓แต่พระชุดนี้ชาวบ้านและวงการพระเครื่องเรียกกันจนคุ้นหูว่า พระผงน้ำมันวัดอัมพวา เนื่องจากมีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่วัดนี้ เมื่อปี ๒๔๘๔ คราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยพระครูแป้น รชโฏ เจ้าอาวาสวัดอัมพวา ครั้งนั้นได้นำพระออกมาแจกเพื่อบำรุงขวัญทั้งทหาร ตำรวจ และชาวบ้านในย่านนั้น ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไบางกอกน้อย อันเป็นที่ตั้งกองกำลังสำคัญของทหารญี่ปุ่น เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดไม่เว้นแต่ละวัน ว่ากันว่า คนที่มีพระผงน้ำมันวัดอัมพวา รอดตายจากเหตุการณ์สงครามครั้งนั้นทุกคน (วัดอัมพวา ตั้งอยู่ที่ถนนอิสรภาพ ใกล้สี่แยกพรานนก บางกอกน้อย ธนบุรี)พุทธคุณของพระผงน้ำมันวัดอัมพวา นับว่าดีเด่นเหลือคณานับ โดยเฉพาะด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดจากภยันตราย กลับร้ายกลายเป็นดี กลับศัตรูให้กลายเป็นมิตร เป็นที่ยกย่องนับถือของคนยุคเก่าก่อนมาแสนนาน

แม้แต่ "อาจารย์เซีย บุษปบุตร" นักนิยมพระเครื่องระดับอาวุโสผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ยังเคยเช่าบูชาพระผงน้ำมันวัดอัมพวา ถึงองค์ละ ๘๐ บาท และเช่าตะกรุดกลับศัตรูเป็นมิตร ซึ่งทำจากทองคำ ของยายเมี้ยน หมอตำแย ผู้ได้รับมอบตะกรุดมาจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถึงดอกละ ๕๐๐ บาท เมื่อปี ๒๕๐๕ ในขณะที่ราคาซื้อขายทองคำเพียงบาทละ ๓๘๐ บาทเท่านั้นนอกจากนี้ยังเล่าลือกันว่า เจ้าสัวคนหนึ่ง นับจากข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกรากในเมืองไทย มีเพียงพระผงน้ำมันวัดอัมพวาติดตัวอยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น ท่านได้พึ่งพาพระพุทธคุณมาตลอด จนกระทั่งตั้งตัวได้ กลายเป็นมหาเศรษฐี เจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดังมูลค่าหลายพันล้าน และมีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของเมืองไทยในปัจจุบัน

ทีมงานกะฉ่อนพระเครื่องมีเจตนาที่จะขอร่วมอนุรักษ์และรวบรวมพระเครื่องพระพิมพ์ต่างๆของวัดอรุณ ที่ท่านพระเกจิอาจารย์ในยุคก่อนๆของวัดอรุณได้สร้างไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์และเกียรติประวัติแด่ท่านพระเกจิอาจารย์ของวัดอรุณในอดีต และจะเป็นมาตรฐานในการศึกษาค้นคว้าต่อไปของอนุชนรุ่นหลังที่สนใจในวัตถุมงคลของสายวัดอรุณ ทีมงานกะฉ่อนพระเครื่องขอขอบคุณ คุณวิทย์ วัดอรุณ(อัครวิทย์ รัตนประสิทธิ์) ที่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกบางส่วนที่ท่านได้ฟังจากคุณลุงกวี อรรถโกวิทซึ่งคุณลุงกวี ท่านก็ได้ฟังตกทอดมาจากคุณปู่กร อรรถโกวิท พ่อของท่าน ซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ผู้รู้จริงและทันในเหตุการสร้างวัตถุมงคลหลายๆพิธีของวัดอรุณ และได้เอื้อเฟื้อภาพวัตถุมงคแท้ๆของวัดอรุณ ที่หาชมได้ยากแล้วในปัจจุบันนี้

เรียบเรียงโดย แว่น วัดอรุณ

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม ทีมงาน วิทย์ วัดอรุณ รายงาน

.......

บารมีเหรียญสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชชาววัดอรุณ รุ่นกรุงธนบุรี คุ้มครองชีวิต(มีคลิป)
https://bit.ly/2P0sbzR



หน้าแรก กระฉ่อนพระเครื่อง
รวมรุ่นองค์พ่อจตุคามรามเทพ
รวมข้อมูลพระเครื่องรุ่นต่าง ๆ
รวมข้อมูลพระเกจิอาจารย์ ทั่วไทย
พุทธศิลป์ในประเทศไทย
ข่าว องค์พ่อจตุคาม
ข่าวสารพระเครื่อง
ซื้อ-ขายจตุคามรามเทพ
ซื้อ-ขายพระเครื่อง
ซื้อขายลูกปัด-หินทิเบต-ของเก่า
ถาม-ตอบเกี่ยวพระเครื่อง
กะฉ่อน กับ สื่อหนังสือพิมพ์
กะฉ่อน กับ สื่อหนังสือพระเครื่อง
Email
Password
 


สมัครสมาชิก | ลืมระหัสผ่าน

ตะกรุดสาริกาของู พระอาจารย์ป้อม
watnongmuang.com
  พระยอดนิยม


หน้าแรก | เว็บบอร์ด | พระเครื่อง | เพื่อน MSN | ฝากรูปฟรี | ทีวีออนไลน์ | เกมส์ | เทคโนโลยี | หนังใหม่ | คลิปวิดีโอ | เพศศึกษา | กะฉ่อนพาเที่ยว | กะฉ่อนพากิน | นางแบบ | มือถือ | ไดอารี | พิตตี้ | ทีมงานกะฉ่อน.คอม